ข้อบังคับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ว่าด้วย บทบาท หน้าที่ และการดำเนินงาน พ.ศ. 2536


เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงว่าด้วยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2532 และมติคณะกรรมการอำนวยการกลุ่มสถาบัน แพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2536 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2536 จึงมีมติให้ตราข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
ข้อ 2 กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ชื่อภาษาอังกฤษ “Consortium of Thai Medical Schools” ชื่อย่อ กสพท, COTMES
ข้อ 3 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 4 ในข้อบังคับนี้
“สถาบันแพทยศาสตร์” หมายความว่า คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ และสถาบันการศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่าคณะแพทยศาสตร์
“กลุ่มสถาบัน” หมายความว่า กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
“สถาบันสมาชิก” หมายความว่า สถาบันแพทยศาสตร์ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
“คณบดี” หมายความว่า คณบดีคณะแพทยศาสตร์ที่เป็นสถาบันสมาชิก
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรือสถาบันการศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่าคณะแพทยศาสตร์ ที่เป็นสถาบันสมาชิก
“คณะกรรมการอำนวยการ” หมายความว่า คณะกรรมการอำนวยการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
“คณะกรรมการบริหาร” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย

หมวดที่ 1 บททั่วไป
ข้อ 5 วัตถุประสงค์ของกลุ่มสถาบันมีดังต่อไปนี้
5.1 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา วิจัย และบริการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในทุกระดับ ให้สอดคล้องและสนองตอบต่อนโยบาย และปัญหาการสาธารณสุขของประเทศ
5.2 เพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการด้านการศึกษาแพทยศาสตร์ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างสถาบันสมาชิกด้วยกัน และระหว่างสถาบันสมาชิกกับสถาบันที่เกี่ยวข้อง
5.3 เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากิจการด้านวิชาการแพทย์และสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อความก้าวหน้าของการศึกษาแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศ
5.4 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อคิดเห็นและเสนอต่อรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในด้านการพัฒนาการศึกษาแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการสาธารณสุขของประเทศไทย
5.5 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางาน บุคลากร และระบบข้อมูลกลางของงานทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้ทันสมัย ก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5.6 เพื่อเป็นสถาบันทางวิชาการและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ข้อ 6 กลุ่มสถาบันอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
6.1 ค่าบำรุงและเงินสมทบค่าดำเนินการจากสถาบันสมาชิก
6.2 การสนับสนุนจากองค์กรภายในหรือต่างประเทศ
6.3 เงินบริจาคจากบุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ
6.4 รายได้หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการอำนวยการเห็นสมควร การบริหารและการจัดการด้านการเงินและทรัพย์สินให้เป็นไปตามระเบียบของกลุ่มสถาบัน

หมวดที่ 2 บทบาทและหน้าที่
ข้อ 7 กลุ่มสถาบันมีบทบาทและหน้าที่ดังต่อไปนี้
7.1 กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานให้สนองตอบวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มสถาบัน และความประสงค์ของสถาบันสมาชิก
7.2 เป็นตัวแทนสถาบันสมาชิกทั้งหมด หรือแต่ละสถาบันในการดำเนินกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกลุ่มสถาบัน
7.3 ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการอำนวยการเห็นสมควร และที่ไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกลุ่มสถาบัน

หมวดที่ 3 การดำเนินงาน
ข้อ 8 คณะกรรมการอำนวยการ
8.1 องค์ประกอบ
8.1.1 คณบดีหรือผู้อำนวยการของสถาบันสมาชิกเป็นกรรมการ
8.1.2 ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการในข้อ 8.1.1 เป็นกรรมการ
8.1.3 เลขาธิการ เป็นกรรมการ
8.1.4 รองเลขาธิการคนหนึ่ง ซึ่งเสนอแนะโดยเลขาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้คณบดีหรือผู้อำนวยการของสถาบันสมาชิก ของสถานที่จัดประชุมกรรมการอำนวยการแต่ละครั้งเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการครั้งนั้น ๆ ถ้าการประชุมครั้งใดจัดนอกสถาบันสมาชิก ให้คณะกรรมการอำนวยการพิจารณาเลือกประธานคนหนึ่งจากคณบดี หรือผู้อำนวยการสถาบันสมาชิกที่เข้าประชุม
8.2 อำนาจหน้าที่
8.2.1 กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน และการจัดรูปแบบองค์กรให้ตอบสนองการดำเนินงาน และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มสถาบัน โดยไม่ขัดต่อนโยบายของสถาบันสมาชิก
8.2.2 พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการหรือกิจกรรมพิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของกลุ่มสถาบันและสถาบันสมาชิก
8.2.3 ให้การสนับสนุน เสริมสร้าง และริเริ่มกิจกรรม รวมทั้งโครงการเฉพาะกิจ ที่ตอบสนองความต้องการของประเทศในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของกลุ่มสถาบัน
8.2.4 สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ แก่สถาบันสมาชิก และสถาบันอื่น ๆ ในขอบข่ายที่ไม่ขัดต่อนโยบายของกลุ่มสถาบัน
8.2.5 พิจารณาการเข้าเป็นสมาชิกหรือออกจากสมาชิกของกลุ่มสถาบันของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
8.2.6 พิจารณาแต่งตั้ง ถอดถอน เลขาธิการของกลุ่มสถาบัน และรองเลขาธิการกลุ่มสถาบัน หรือตำแหน่งหน้าที่อื่นใดตามความเหมาะสม
8.2.7 พิจารณาระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของกลุ่มสถาบัน
8.2.8 พิจารณางบประมาณและควบคุมการดำเนินงานด้านการเงินของกลุ่มสถาบัน
8.2.9 พิจารณามอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้กับบุคคล หรือคณะบุคคลต่าง ๆ เพื่อดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของกลุ่มสถาบัน
8.3 คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการอำนวยการ
8.3.1 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ และต้องไม่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าในสถาบันใด ๆ ในขณะนั้น และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งคณะกรรมการอำนวยการอาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้เป็นการเฉพาะคราว
8.3.2 เลขาธิการ
พิจารณาแต่งตั้งจากผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งคณบดี หรือตำแหน่งที่เทียบเท่าในสถาบันสมาชิกเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี และต้องไม่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี หรือคณบดี หรือตำแหน่งที่คณะกรรมการอำนวยการพิจารณาว่าเทียบเท่าอยู่ในขณะนั้น โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการด้วยคะเนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
8.4 วาระการดำรงตำแหน่งของบุคคลในข้อ 8.3
8.4.1 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
8.4.2 เลขาธิการ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ ในกรณีที่ตำแหน่งเลขาธิการว่างลงก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการอำนวยการ แต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำรงตำแหน่งขึ้นใหม่ รองเลขาธิการ มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของเลขาธิการที่เป็นผู้เสนอแต่งตั้ง
8.5 อำนาจหน้าที่ของเลขาธิการ
8.5.1 รับผิดชอบการดำเนินงานของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มสถาบันและนโยบายของคณะกรรมการอำนวยการ
8.5.2 รับผิดชอบงานด้านการจัดการ การเงิน บุคคล และหน้าที่อื่น ๆ ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกลุ่มสถาบัน
8.5.3 เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร ตามข้อ 9
8.5.4 จัดเตรียมงบประมาณประจำปี เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการ
8.5.5 ติดต่อประสานงานระหว่างกลุ่มสถาบันกับสถาบันสมาชิกและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
8.5.6 เป็นผู้รวบรวม และเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยขน์ต่อสถาบันสมาชิก
8.5.7 จัดทำรายงานผลการดำเนินงานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการ
8.5.8 พิจารณาเลือกรองเลขาธิการคนหนึ่ง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการให้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุม คณะกรรมการอำนวยการ
8.5.9 ดำเนินงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการ
ข้อ 9 คณะกรรมการบริหาร
9.1 องค์ประกอบ
9.1.1 เลขาธิการเป็นประธานกรรมการ
9.1.2 รองเลขาธิการเป็นกรรมการ
9.1.3 กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากสถาบันสมาชิก สถาบันละ 1 คน เป็นกรรมการ
9.1.4 ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ คุณสมบัติและการแต่งตั้ง ให้เป็นไปตามข้อ 8.3.1 ให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งรองเลขาธิการคนหนึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ ตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการ
9.2 อำนาจหน้าที่
9.2.1 จัดเตรียมโครงการและกิจกรรมพิเศษของกลุ่มสถาบัน เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการ หรือตามที่คณะกรรมการอำนวยการมอบหมาย
9.2.2 ริเริ่มโครงการหรือแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มสถาบันในขอบข่ายที่สนองตอบวัตถุประสงค์ของกลุ่มสถาบัน
9.2.3 เสนอแนะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการอำนวยการ
9.2.4 ดำเนินการในเรื่องที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการ
9.3 วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการตามข้อ 9.1.3ให้เป็นไปตามวาระการดำรงตำแหน่งของคณบดีหรือผู้อำนวยการที่เป็นผู้เสนอรายนาม
ข้อ 10 คณะกรรมการดำเนินการ โครงการ/เฉพาะกิจ
10.1 องค์ประกอบ
10.1.1 เลขาธิการหรือรองเลขาธิการ หรือกรรมการบริหารที่ได้รับมอบหมาย หรือทั้งเลขาธิการ รองเลขาธิการ และกรรมการบริหาร
10.1.2 ผู้ที่คณะกรรมการอำนวยการเห็นสมควร
10.2 หน้าที่
เพื่อดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จ และเสนอผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการอำนวยการ ตามลำดับ
ข้อ 11 คณะที่ปรึกษา
คณะกรรมการอำนวยการอาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และ/หรือ ผู้มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการของกลุ่มสถาบัน โดยมีวระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 2 ปี

ประกาศ ณ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2537

(ลงนาม) อาวุธ ศรีศุกรี
(ศาสตราจารย์ นายแพทย์อาวุธ ศรีศุกรี)
เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย

สำเนาถูกต้อง
(ลงนาม) พาณี เตชะเสน
(รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพาณี เตชะเสน)